เขื่อนในลาวกำลังใช้แม่น้ำโขงเป็นห้องทดลอง
กรุงเทพฯ ประเทศไทย ในวันนี้มีการจัดทัศนศึกษาลงพื้นที่สร้างเขื่อนดอนสะโฮงทางภาคใต้ของลาว จัดโดยกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ และคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติลาว ทั้งๆ ที่ยังไม่มีความตกลงระดับภูมิภาค ไม่มีมาตรการที่พิสูจน์ได้ว่าสามารถลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของเขื่อนนี้ได้ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ International Rivers กังวลว่าเขื่อนดอนสะโฮงกำลังทำให้แม่น้ำโขงและความร่วมมือในภูมิภาคตกอยู่ในความเสี่ยง
“โครงการดอนสะโฮงเป็นการเดินซ้ำรอยเขื่อนไซยะบุรี ลาวเริ่มเชี่ยวชาญในการกล่าวอ้าง “ความยั่งยืน” แต่เดินหน้าโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงสาที่อาจจะส่งผลหายนะใหญ่หลวง” Ame Trandem ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว “ความพยายามครั้งครั้งนี้ในการสร้างภาพที่ดีให้กับเขื่อนดอนสะโฮง ไม่สามารถปกปิดความอยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมและการเมืองของโครงการนี้ได้”
ปัจจุบันเขื่อนไซยะบุรีซึ่งเป็นเขื่อนแรกบนแม่น้ำโขงก่อสร้างคืบหน้ากว่า 13% แม้ว่าแหล่งทุนระหว่างประเทศจะทักท้วงหลายครั้ง แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลการออกแบบโครงการ (final project designs) ให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่เปิดเผยข้อมูลเพื่อให้มีการตรวจสอบจากสาธารณะ จึงเป็นคำถามต่อความน่าเชื่อถือของมาตรการลดผลกระทบของโครงการ
ลาวกำลังเดินซ้ำรอยที่อันตรายของเขื่อนไซยะบุรี โดยเพิกเฉยต่อคำแนะนำของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ที่ระบุว่า เขื่อนดอนสะโฮงต้องผ่านกระบวน “การปรึกษาหารือล่วงหน้า” แต่ลาวเลือกที่จะ “แจ้ง” ให้ประเทศเพื่อนบ้านทราบว่าตัดสินใจจะสร้างเขื่อนแล้วเท่านั้น เอกสารรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม EIA ของโครงการ เพิ่งเปิดเผยแก่ประเทศเพื่อนบ้านและสาธารณะเพียงไม่กี่วันก่อนลงมือก่อสร้างและเตรียมการเขื่อนดอนสะโฮง
“การตัดสินใจสำคัญเช่นนี้ไม่ควรปกปิด แต่จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในภูมิภาค ต้องคำนึงถึงเสียงของประชาชนหลายล้านคนซึ่งพึ่งพาแม่น้ำโขง” เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานการรณรงค์ประเทศไทยของ International Rivers กล่าว “แม่น้ำโขงอยู่ในสภาพที่อ่อนไหวเป็นอย่างยิ่ง ในขณะที่ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบของเขื่อนอย่างรอบด้าน ที่ผ่านมายังไม่มีการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนของเขื่อนดอนสะโฮงหรือเขื่อนไซยะบุรี การศึกษาผลกระทบตามมติของของคณะมนตรีแม่น้ำโขงในปี 2554 ก็ยังไม่เริ่มดำเนินการ
“เห็นได้ชัดว่านี่คือเรื่องผลประโยชน์ของแค่บางคน ไม่ใช่การตัดสินใจบนฐานข้อมูลที่เพียงพอ”
การศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์ และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง แสดงให้เห็นว่าเขื่อนดอนสะโฮงปิดกั้นช่องทางอพยพที่สำคัญของปลา ลดการพัดพาตะกอนแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเพาะปลูก ประชาชนหลายล้านคนตลอดสองฝั่งน้ำต้องสูญเสียวิถีชีวิตและปลาซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนหลัก
เขื่อนดอนสะโฮงจะกระทบต่อต่อความหลากหลายทางชีวภาพของแม่น้ำโขง เขื่อนจะปิดร่องน้ำ (ฮู) เดียวในแม่น้ำโขงแถบสีพันดอนซึ่งเป็นเส้นทางอพยพที่ปลาว่ายผ่านได้ตลอดปี ทั้งยังทำลายหนึ่งในแหล่งอาศัยของโลมาอิระวดีที่ใกล้สูญพันธุ์ จนปัจจุบันยังไม่มีมาตรการที่พิสูจน์ว่าลดผลกระทบได้จริง ยังไม่มีทางทดแทนความมั่นคงทางอาหารที่ถูกทำลาย ยิ่งกว่านั้นบริษัทเอกชนที่สร้างเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮง กลับเสนอให้ “สร้างไป ศึกษาไป” โดยศึกษาผลกระทบระหว่างการก่อสร้าง และพยายามบรรเทาผลกระทบไปพร้อม ๆ กัน
“ความเสี่ยงนั้นสูงมาก การเดินหน้าสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงจะเป็นการลองผิดลองถูก และไร้ความรับผิดชอบ” Trandem กล่าวต่อ “ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ได้เตือนว่า เขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮงอาจมีผลกระทบต่อปริมาณพันธุ์ปลาอย่างมาก อาจถึงขั้นสูญพันธุ์ ทำให้เกิดข้อกังวลต่อความมั่นคงทางอาหารของภูมิภาค
“จะทำอะไรต่อแม่น้ำโขงต้องคำนึงถึงการป้องกันผลกระทบเป็นอันดับแรก แม่น้ำโขงไม่ใช่ห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์”
รายละเอียดเพิ่มเติมโปรดติดต่อ:
เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานการรณรงค์ประเทศไทยของ International Rivers
โทรศัพท์ +66 81 422 0111 อีเมล์ pai@internationalrivers.org
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดดู