เขื่อนดอนสะโฮง กระบวนการหารือฯ ล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่เริ่ม

Date: 
Thursday, October 2, 2014

2 ตุลาคม 2557

พนมเปญ กัมพูชา คณะกรรมการร่วมของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission - MRC) ประชุมในสัปดาห์นี้ที่กรุงพนมเปญ โดยคาดว่าจะมีการประกาศวันเริ่มต้นกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (Prior Consultation) กรณีเขื่อนดอนสะโฮง ซึ่งดูเหมือนกระบวนการนี้จะล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่เริ่มช่วงเวลา 6 เดือนของการประเมินโครงการเขื่อน ในขณะที่การก่อสร้างแตรียมการเขื่อนดอนสะโฮงกำลังเดินหน้าไป แต่คาดว่าการปรึกษาหารือระดับภูมิภาคครั้งนี้อาจเกิดขึ้นโดยไร้ข้อมูลพื้นฐานที่จะใช้พิจารณาโครงการเขื่อน และเป็นปัญหาเดิมซ้ำกับกรณีเขื่อนไซยะบุรีซึ่งเป็นเขื่อนแห่งแรกในแม่น้ำโขงสายหลัก เป็นความบกพร่องร้ายแรงของกระบวนการปรึกษหารือครั้งนี้

“ลาวยังคงกลับหัวกลับหาง ไม่เข้าใจลำดับก่อนหลังในการตัดสินใจที่จะมีผลกระทบต่อภูมิภาคลุ่มน้ำโขงทั้งหมด กระบวนการปรึกษาหารือฯ กรณีเขื่อนดอนสะโฮงครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน” เอมี แทรนเดม (Ame Trandem) ผู้อำนวยการแผนกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ International Rivers กล่าว “ระยะเวลา 6 เดือนของการปรึกษาหารือฯ จะไร้ความหมาย หากไม่มีผลการศึกษาต่างๆ รวมทั้งการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน และเครื่องมือเพื่อประเมินโครงการ หากไม่มีพื้นฐานข้อมูลที่หนักแน่นเหล่านี้ กระบวนการที่เกิดขึ้นก็เป็นเพียงการสร้างภาพว่ามีความร่วมมือระดับภูมิภาคเท่านั้น และน่าจะล้มเหลว” 

ตามระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation, and Agreement - PNPCA) ของ MRC การปรึกษาหารือฯ ต้องเกิดขึ้นก่อนมีการแสดงพันธกิจที่จะเดินหน้าโครงการ เนื่องจากเหตุผลของขั้นตอนปฏิบัตินี้คือ “เปิดโอกาสให้รัฐสมาชิกสามารถประเมินและให้ความเห็นต่อข้อเสนอการใช้ประโยชน์ (ของโครงการ) และปฏิบัติตามพันธกรณีด้าน “การตรวจสอบ” เพื่อประเมินผลกระทบด้านลบใด ๆ ที่มีต่อสิทธิและผลประโยชน์ของตนได้” อย่างไรก็ดี ลาวแสดงท่าทีอย่างชัดเจนในระหว่างการประชุมครั้งที่ 20 ของคณะมนตรีแม่น้ำโขงในเดือนมิถุนายนที่กรุงเทพฯ ว่าจะเดินหน้าเขื่อนดอนสะโฮงต่อไป โดยไม่คำนึงถึงกระบวนการปรึกษาหารือฯ  และต่อมาก็มีรายงานว่าบริษัท Mega-First Corporation Berhad ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการยังรีบออกมายืนยันว่า การก่อสร้างในพื้นที่กำลังดำเนินอยู่ 

นับแต่ลาวแจ้งให้ประเทศสมาชิก MRC ทราบเป็นครั้งแรกถึงเจตจำนงที่จะก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮงเมื่อเดือนกันยายน 2556 รัฐบาลในภูมิภาคต่างแสดงข้อกังวลต่อผลกระทบต่อการประมงและความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค กัมพูชาและเวียดนามต่างเรียกร้องอย่างเต็มที่ให้มีการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนเพิ่มเติม ทั้งสองประเทศยังเรียกร้องให้ระงับการตัดสินใจใด ๆ เกี่ยวกับโครงการเขื่อนในแม่น้ำโขงสายหลักไว้ก่อน จนกว่าการศึกษาตามข้อเสนอแนะของคณะมนตรีคณะแม่น้ำโขง และการศึกษาในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงที่เวียดนามจะแล้วเสร็จ 

“เป็นที่ชัดเจนว่ากระบวนการปรึกษาหารือครั้งนี้จะไม่ส่งผลใดๆ ต่อการตัดสินใจว่าจะเดินหน้าโครงการหรือไม่” เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานการรณรงค์ประเทศไทยของ International Rivers กล่าว “และแม้ประเทศไทย กัมพูชา และเวียดนามแสดงข้อกังวลอย่างจริงจังเกี่ยวกับผลกระทบข้ามพรมแดนของเขื่อนดอนสะโฮง แต่ดูเหมือนทั้งสี่ประเทศให้ความเห็นชอบกับกระบวนการที่ว่างเปล่าปล่อยให้อนาคตของแม่น้ำโขงและประชาชนในภูมิภาคตกอยู่ใต้ความเสี่ยงอย่างสาหัส”

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากกระบวนการ PNPCA ถูกบันทึกโดยหลายหน่วยงานกรณีความล้มเหลวนับตั้งแต่กรณีเขื่อนไซยะบุรี รวมทั้งจากรายงานของภาคประชาสังคมทั่วทั้งภูมิภาคที่เคยร่วมเวที MRC ยังได้จัดทำการประเมินกระบวนการของตนเอง เช่นเดียวกับประเทศผู้บริจาค เช่น รัฐบาลออสเตรเลีย

ซึ่งเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุน อย่างไรก็ดีแม้รายงานเหล่านี้ชี้ให้เห็นปัญหาต่าง ๆ และมีข้อเสนอแนะให้แก้ปัญหา รวมทั้งเสนอให้ขยายเวลาการปรึกษาหารือฯ และให้กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับ “ข้อตกลง” แต่กลับไม่มีการนำมาแก้ไขปรับปรุงแต่อย่างใด และดูเหมือนว่ารัฐบาลออสเตรเลียมีแนวโน้มจะให้ทุนสนับสนุนอีกเป็นครั้งที่สองสำหรับกระบวนการหารือของเขื่อนดอนสะโฮง 

“MRC และบรรดาประเทศผู้บริจาค ต้องรับผิดชอบดูแลให้มีมาตรการที่จำเป็น เพื่อปฏิรูปกระบวนการปรึกษาหารือฯ ก่อนที่กระบวนการพิจารณาระดับภูมิภาคกรณีเขื่อนดอนสะโฮงจะเริ่มขึ้น” เอมี แทรนเดมกล่าว “เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบร้ายแรงของเขื่อนดอนสะโฮงที่มีต่อพันธุ์ปลา การประมง และความมั่นคงทางอาหารทั่วทั้งภูมิภาค เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้หากลาวจะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ ประเทศลุ่มน้ำโขงต้องร่วมเรียกร้องให้ลาวยุติพฤติการณ์โดยพลการเพียงฝ่ายเดียว และยุติกิจกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนดอนสะโฮงทั้งการก่อสร้าง การเจรจา และกระบวนการปรึกษาหารือฯ จนกว่าจะมีการศึกษาผลกระทบที่จำเป็น และปฏิรูปเพื่อให้เกิดกระบวนการปรึกษาหารืออย่างจริงจังและมีส่วนร่วม” 

Media contacts: 
  • Ame Trandem, Southeast Asia Program Director, International Rivers: T: +855 89570174 E: ame@internationalrivers.org
  • เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานการรณรงค์ประเทศไทยของ International Rivers โทรศัพท์ (+66) 081 422 0111 อีเมล์ pai@internationalrivers.org