เขื่อนดอนสะโฮงเสี่ยงทำลายการประมงแม่น้ำโขง-ความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาค

Date: 
Tuesday, June 21, 2016

สำหรับเผยแพร่ทันที

21 มิถุนายน 2559

กรุงเทพฯ ประเทศไทย: การก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮงกำลังคืบหน้าไปอย่างรวดเร็ว รายงานจากพื้นที่ระบุว่าขณะนี้มีการกั้นฮูสะโฮง ซึ่งเป็นช่องทางน้ำสำคัญที่สุดในพื้นที่สีพันดอน ที่ปลาใช้ว่ายอพยพตามฤดูกาล แต่ใครจะตอบคำถามเกี่ยวกับผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร และความเป็นอยู่ของประชาชนรอบๆ เขื่อน รวมทั้งชุมชนที่อยู่ด้านเหนือน้ำและท้ายน้ำ ?

            ในขณะที่ผู้พัฒนาเขื่อนเร่งรีบก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง แต่กลับพยายามปกปิดข้อมูล หลีกเลี่ยงไม่ตอบคำถาม โดยเฉพาะข้อกังวลของชาวบ้านริมฝั่งน้ำโขง ที่ผ่านมาผู้พัฒนาโครงการไม่ได้เปิดเผยหลักฐานว่าจะมีมาตรการบรรเทาผลกระทบ เพื่อช่วยการอพยพของปลาในบริเวณนั้นเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ และหากมีการบรรเทาผลกระทบดังกล่าวจะดำเนินการอย่างไร  

ช่วงต้นฤดูฝนในเดือนมิถุนายนเป็นช่วงเวลาการอพยพที่สำคัญของพันธุ์ปลาแม่น้ำโขงในบริเวณสีพันดอน  คนหาปลาจำนวนมากจับปลาในช่วงนี้เพื่อให้มีรายได้ประทังชีวิตครอบครัวตลอดทั้งปี แต่เมื่อฮูสะโฮงถูกปิดกั้น ย่อมเสี่ยงต่อการสูญเสียการประมงในอนาคต และหมายถึงอาชีพและรายได้ของชุมชนคนหาปลาลุ่มน้ำโขงด้วย

            “ชาวบ้านในพื้นที่จับปลาในช่วงนี้และขายเป็นรายได้เลี้ยงชีวิตครอบครัวทั้งปี” เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ประเทศไทยกล่าว “แต่การก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮงกำลังทำให้เกิดความกังวล คนหาปลาไม่สามารถรู้ได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร หากปลาไม่สามารถว่ายผ่านน้ำตกบริเวณสีพันดอนขึ้นมายังแม่น้ำโขงตอนบนได้ดังเดิม และนี่หมายถึงผลกระทบต่อพันธุ์ปลาธรรมชาติทั้งลุ่มน้ำโขง”

            เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลาวจัดพิธีประกาศก่อสร้างเขื่อนกั้นชั่วคราว สำหรับเขื่อนดอนสะโฮง ก่อนหน้านั้นหลายเดือนทางการลาวเงียบเฉย ไม่ประกาศข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานตามระเบียบปฏิบัติเรื่องการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission - MRC) ในขั้นตอนการปรึกษาหารือล่วงหน้า รัฐบาลประเทศแม่น้ำโขงตอนล่างทั้งสี่ไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับอนาคตของโครงการเขื่อนนี้

หลังจากผ่านไปหกเดือน รัฐบาลไทย กัมพูชา และเวียดนาม ขอให้มีการขยายระยะเวลาการปรึกษาหารือล่วงหน้า และเรียกร้องให้มีการศึกษาเพิ่มเติม รวมทั้งการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า มีการดำเนินการศึกษาตามที่ร้องขอหรือไม่ และไม่มีข้อมูลว่ามีการแก้ไขปัญหาตามข้อกังวลของประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่และอย่างไร 

            รายงานการทบทวนเชิงเทคนิคของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กรณีเขื่อนดอนสะโฮง ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ยังเน้นให้เห็นความคลุมเครือของข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการบรรเทาผลกระทบที่เสนอ ในรายงานมีข้อสังเกตว่า ไม่มีการอธิบายว่าร่องน้ำที่ปรับปรุงเพื่อเป็นช่องทางใหม่ให้ปลาอพยพ จะสามารถรองรับความหลากหลายของพันธุ์ปลาที่พบในสีพันดอนหรือไม่ และมาตรการดังกล่าวคำนึงถึงชุมชนทั้งด้านเหนือและท้ายน้ำของเขื่อนหรือไม่

            “เป็นอีกครั้งที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบกลับต้องเป็นผู้แบกรับภาระในการพิสูจน์ เพื่อชี้ให้เห็นว่าโครงการนี้จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาอย่างไร แทนที่จะเป็นภาระของผู้พัฒนาโครงการ” เพียรพร กล่าว “ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบถ้ามาตรการบรรเทาผลกระทบเหล่านี้ล้มเหลว? หากปลาว่ายผ่านไม่ได้ ใครจะเป็นผู้แบกรับต้นทุนจากการสูญเสียอาชีพ ทรัพยากรประมงและความมั่นคงทางอาหาร? เป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบตั้งแต่ก่อนจะมีการลงนามสัญญาโครงการและก่อนที่การก่อสร้างจะเริ่มขึ้นด้วยซ้ำ เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องตอบคำถามเหล่านี้ทันที”

            กลไกพิเศษแห่งสหประชาชาติต่างแสดงความกังวลต่อผลกระทบของเขื่อนดอนสะโฮง ตามที่ปรากฏในรายงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รายงานเน้นให้เห็นความเสี่ยงที่โครงการนี้จะนำไปสู่การละเมิดสิทธิของประชาชนในพื้นที่ ทั้งสิทธิในการการเข้าถึงอาหารและที่อยู่อาศัย การเข้าถึงข้อมูลและการมีส่วนร่วม รวมทั้งสิทธิของชนพื้นเมือง กลไกพิเศษเหล่านี้ยังเรียกร้องให้บริษัทเมกะเฟริสต์ คอร์ปอเรชั่น เบอร์ฮาด รัฐบาลลาวและมาเลเซีย รวมทั้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ให้ตอบคำถามเกี่ยวกับข้อกังวลเหล่านี้โดยตรง แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับคำตอบ

            “จำเป็นต้องสั่งให้มีการชะลอการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮงโดยทันที ทั้งนี้เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาตามความกังวลที่ยังมีอยู่ของบรรดารัฐบาลประเทศและชุมชนในลุ่มน้ำโขง รวมทั้งความจำเป็นที่ต้องมีการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน และความโปร่งใสเกี่ยวกับการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน” มอรีน แฮรรีส (Maureen Harris) ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว “โครงการนี้ไม่ควรเดินหน้าต่อไปจนกว่าผู้พัฒนาโครงการจะพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า เขื่อนดอนสะโฮงจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อทรัพยากรด้านประมงที่อุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขง และชีวิตประชาชนหลายล้านคนที่ต้องพึ่งพาแม่น้ำ”

Media contacts: 
  • Ms. Maureen Harris, ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, T: +66 0969077332 E:mharris@internationalrivers.org   
  • เพียรพร ดีเทศน์, ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ประเทศไทย, T: +66814220111E:pai@internationalrivers.org