หายนะพันธุ์ปลาแม่น้ำโขง เขื่อนดอนสะโฮงของลาวประกาศเดินหน้า

By: 
Ame Trandem
Date: 
Wednesday, October 2, 2013

                                                                                                        

         

 

 

สำหรับเผยแพร่ทันที 

กรุงเทพฯ ประเทศไทย: เมื่อวันจันทร์ ทางการลาวได้แจ้งต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission - MRC) และรัฐภาคีเกี่ยวกับเจตจำนงในการพัฒนาโครงการเขื่อนแห่งที่สองในแม่น้ำโขงสายหลัก ได้แก่ เขื่อนดอนสะโฮงที่มีกำลังผลิตติดตั้ง 260 เมกะวัตต์ เขื่อนดอนสะโฮงจะขวางกั้นร่องน้ำเดียวที่เป็นเส้นทางอพยพของปลาในแม่น้ำโขงที่เหลืออยู่ในช่วงหน้าแล้ง การสร้างเขื่อนแห่งนี้นี้ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อแหล่งประมงน้ำจืดใหญ่สุดของโลก 

จากจดหมาย “แจ้งล่วงหน้า” ต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง แสดงให้เห็นว่าทางการลาวละเลยความรับผิดชอบที่จะต้องเสนอโครงการเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (‘prior consultation’ process) ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง แม้ว่าก่อนหน้านี้ ทั้งสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและแหล่งทุนระหว่างประเทศระบุว่า โครงการนี้ควรผ่านกระบวนการปรึกษาหารือ เพื่อให้มีการตัดสินใจร่วมกันในระดับภูมิภาค 

“เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ลาวพยายามหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ พร้อม ๆ กับบังคับให้สาธารณชนทั้งภูมิภาคต้องแบกรับภาระจากความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง” ธีระพงศ์ โพธิ์มั่น นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตกล่าว “ลาวต้องยกเลิกโครงการนี้ รวมทั้งโครงการอื่นในแม่น้ำโขงสายหลัก ก่อนจะสายเกินไป” 

ในการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของเขื่อนดอนสะโฮงเมื่อปี 2550 คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงให้ความเห็นว่า โครงการนี้ต้องผ่าน ‘การปรึกษาหารือล่วงหน้า’ เนื่องจากเขื่อนดังกล่าวตั้งอยู่ในแม่น้ำโขงสายหลัก น้ำที่ไหลเข้าเขื่อนไม่ได้มาจากลำน้ำสาขา แต่มาจากแม่น้ำโขงสายหลัก ในระหว่างการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของแหล่งทุนของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเมื่อเดือนมิถุนายน แหล่งทุนระหว่างประเทศสิบแห่งรวมทั้งสหภาพยุโรป (European Union) ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาขอให้รัฐบาลลาวเปิดเผยข้อมูลในรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของเขื่อนดอนสะโฮง และเสนอโครงการเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า 

“ถ้าคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงไม่สามารถหยุดยั้งการดำเนินงานของลาวได้ เท่ากับไม่สามารถปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ และจะสูญเสียความน่าเชื่อถือในฐานะองค์กรที่ชอบธรรมไป” เอมี แทรนเดมจากองค์การแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) กล่าว “คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงไม่อาจปล่อยให้ลาวละเลยความรับผิดชอบของตนเองอีกต่อไป โครงการนี้ต้องเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า ตามข้อกำหนดในความตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 นอกจากนี้ควรมีการปฏิบัติตามความตกลงยุติการสร้างเขื่อนทั้งหมดในแม่น้ำโขงสายหลักเป็นการชั่วคราว เพื่อเปิดโอกาสให้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงประเมินผลกระทบของเขื่อนต่าง ๆ  ซึ่งเป็นไปตามความตกลงที่ลาวและประเทศเพื่อนบ้านให้ความเห็นชอบเมื่อปี 2554

จากบทเรียนการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งเป็นเขื่อนแห่งแรกในแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่าง ลาวได้เริ่มแผนเบื้องต้นสำหรับการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงในบริเวณน้ำตกคอนพะเพ็งทางตอนใต้ของประเทศ เมื่อปี 2555 การมีสิ่งปลูกสร้างขวางกั้นร่องน้ำเดียวที่มีอยู่ ซึ่งเป็นช่องทางอพยพของปลาตลอดทั้งปี ย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อแบบแผนการหาอาหารและการผสมพันธุ์ของพันธุ์ปลาที่หลากหลายจำนวนมาก และก่อให้เกิดผลกระทบข้ามพรมแดน นอกจากนั้น ปลาโลมาอิระวดีซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อยู่แล้ว จะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นจากการสูญเสียแหล่งอาศัยและการเปลี่ยนแปลงด้านนิเวศในลำน้ำ เพื่อเพิ่มปริมาณการไหลของน้ำผ่านร่องน้ำเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า คาดว่าต้องมีการขุดท้องน้ำเพื่อนำตะกอนปริมาณ 1.9 ล้านลูกบาศก์เมตรออกไป การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเมื่อปี 2552 ระบุว่า การดำเนินงานเช่นนั้นจะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของเส้นทางน้ำ และส่งผลให้มีปริมาณน้ำประมาณ 9-10% ที่ไหลผ่านร่องน้ำฮูสะโฮงในช่วงฤดูฝน 

“เขื่อนดอนสะโฮงจะยิ่งทำให้กัมพูชาและเวียดนามเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตอาหารมากขึ้น เพราะที่ตั้งของเขื่อนอยู่ติดกับพรมแดนกัมพูชา ลืมไปแล้วหรือว่าปลาเป็นเส้นเลือดและเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจเรา? ปลาเป็นอาหารหลักและเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญของคนในประเทศ” จิต สัมอาต (Chhith Sam Ath) เอ็นจีโอฟอรัมกัมพูชา (NGO Forum on Cambodia) กล่าว “เราไม่อาจเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปโดยไม่มีการปรึกษาหารือกับประชาชนด้านท้ายน้ำ หรือโดยไม่มีการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนที่น่าเชื่อถือ ปลาน้ำโขงคือทรัพยากรที่มีคุณค่า อย่าปล่อยให้ถูกทำลายง่ายๆ”

“เรายังมีพลังงานจากแหล่งอื่นที่ยั่งยืน ทำไมถึงจะต้องทำลายปลา การประมง และอาหาร สิ่งนี้หากหมดไปแล้วไม่สามารถเรียกคืนมาได้” งุยถี่คาน (Nguy Thi Khanh) ศูนย์นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (Green Innovation and Development Centre) เวียดนามกล่าว “รัฐบาลของประเทศแม่น้ำโขงต้องเร่งแก้ปัญหานี้ ก่อนที่ความตึงเครียดในภูมิภาคจะลุกลาม เราไม่อาจปล่อยให้การเมืองและการตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียวส่งผลกระทบต่อแม่น้ำและความมั่นคงด้านน้ำและอาหารในอนาคตของเรา บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่เราต้องการให้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและรัฐภาคี ร่วมมือกันปกป้องทรัพยากรในแม่น้ำโขงที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของประชาชนนับล้านคน”
Media contacts: 

  • ธีระพงศ์ โพธิ์มั่น นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต, ไทย. โทรศัพท์ +66 81 447 7969, อีเมล์ aaa@livingriversiam.org
  • คำปิน อักษร, กลุ่มฮักน้ำโขง, อุบลราชธานี, ไทย. โทรศัพท์ +66 80 736 9330, อีเมล์ kumpinaksorn@gmail.com (ภาษาไทยหรือลาว)
  • Chhith Sam Ath, ผู้อำนวยการบริหารเอ็นจีโอฟอรัมกัมพูชา (NGO Forum on Cambodia), กัมพูชา. โทรศัพท์ +855 12 928 585, อีเมล์ samath@ngoforum.org.kh
  • Meach Mean, ผู้ประสานงานเครือข่าย 3S เพื่อปกป้องแม่น้ำ (3S Rivers Protection Network), กัมพูชา.  โทรศัพท์ +855 88 798 4490, อีเมล์ info@3spn.org
  • Ngụy Thị Khanh, ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (Green Innovation and Development Centre), เวียดนาม. โทรศัพท์  +84 912713229, อีเมล์ khanh@greenidvietnam.org.vn
  • Lam Thi Thu Suu, ผู้อำนวยการ CSRD และผู้ประสานงานเครือข่ายแม่น้ำเวียดนาม (Vietnam Rivers Network), เวียดนาม. โทรศัพท์ +84 94 550 3508, อีเมล์ csrd@vnn.vn
  • Ame Trandem, ผู้อำนวยการแผนกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์การแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers), โทรศัพท์ +66 86 882 2426.  อีเมล์ ame@internationalrivers.org
  • เพียรพร ดีเทศน์, ผู้ประสานงานการรณรงค์ประเทศไทย องค์การแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers), โทรศัพท์  +66 81 422 0111, อีเมล์ pai@internationalrivers.org