สองปีผ่านไป ก้าวถอยหลังสามก้าว: การศึกษาเขื่อนแม่น้ำโขงถึงทางตัน

Date: 
Thursday, December 12, 2013
ในขณะที่การประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่นจะมาถึง รัฐบาลในภูมิภาคนี้ยังไม่มีข้อมูลและความรู้อย่างเพียงพอเกี่ยวกับผลกระทบจากเขื่อนบนแม่น้ำโขง

Construction of the Xayaburi Dam continues despite the fact that the risks of the project have yet to be fully understood
International Rivers

[กรุงเทพฯ ประเทศไทย] ในวันเสาร์นี้ ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่นครั้งที่ 5 ที่กรุงโตเกียว โดยมีผู้นำจากประเทศกัมพูชา เวียดนาม ไทย ลาว และพม่า ถือเป็นโอกาสครบรอบสองปีนับแต่รัฐบาลของประเทศในแม่น้ำโขงเห็นชอบให้มีการศึกษาผลกระทบจากเขื่อนน้ำโขงตอนล่าง หรือที่รู้จักในนาม “การศึกษาของคณะมนตรีแม่น้ำโขง” (Mekong Council Study) การศึกษาชิ้นนี้เป็นผลมาจากข้อกังวลอย่างหนักในภูมิภาคและนานาชาติเกี่ยวกับผลกระทบข้ามพรมแดนของเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งเป็นเขื่อนแรกจากแผนการสร้างเขื่อน 11 โครงการบนแม่น้ำโขงสายหลัก อย่างไรก็ดี นับแต่การประชุมสุดยอดครั้งนั้น การศึกษาซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission - MRC) ต้องประสบความล่าช้าหลายครั้ง เพราะไม่สามารถตกลงเกี่ยวกับเนื้อหาการศึกษา เป็นเหตุให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินงาน

“การศึกษาของคณะมนตรีแม่น้ำโขงถึงทางตันแล้วอย่างชัดเจน สองปีผ่านไปแล้วแต่กลับยังไม่มีข้อมูลมานำเสนอ สิ่งที่ดูเหมือนเป็นความก้าวหน้าในแง่ความร่วมมือระดับภูมิภาคและการตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบต่ออนาคต กลับกลายเป็นอุปสรรคอีกครั้งหนึ่งของบรรดาประเทศในแม่น้ำโขง” Ame Trandem ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  International Rivers กล่าว “ในเวลาเดียวกัน ลาวยังคงเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนแม่น้ำโขงอื่น ๆ ต่อไป ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับความเสี่ยงและผลกระทบของเขื่อนเหล่านี้”

ปัจจุบันองค์ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบของเขื่อนขั้นบันไดทั้ง 11 แห่งบนแม่น้ำโขงยังมีไม่เพียงพอ ในปี 2553 คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงจัดให้มีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment - SEA) ซึ่งมีข้อเสนอแนะว่าต้องมีการทำการศึกษาอีกกว่า 50 ประเด็นเพื่อให้สามารถตัดสินใจได้อย่างมีความรับผิดชอบ ส่งผลให้รัฐบาลกัมพูชาและเวียดนามร้องขอหลายครั้งให้มีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนของเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนในแม่น้ำโขงสายหลักอื่น ๆ ก่อนจะมีการก่อสร้าง การร้องขอครั้งล่าสุดคือเมื่อเดือนมกราคม 2556 แต่ลาวเพิกเฉยต่อคำร้องขอ และเดินหน้าแต่ฝ่ายเดียวเพื่อก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี และล่าสุดก็ได้ประกาศสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ซึ่งจะเป็นเขื่อนแม่น้ำโขงแห่งที่สอง

“แทนที่จะตัดสินใจบนฐานของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ กลับปล่อยให้ผลประโยชน์เชิงพาณิชย์เข้ามาทำลายทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขง การสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าจะส่งผลกระทบ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีมาตรการลดผลกระทบที่พิสูจน์ว่าได้ผล” เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานการรณรงค์ประเทศไทยของ International Rivers  กล่าว “จนกว่าการศึกษาของคณะมนตรีแม่น้ำโขงจะแล้วเสร็จ ลาวต้องปฏิบัติตามข้อตกลงจากการประชุมสุดยอดครั้งที่ผ่านมา และตอบสนองต่อข้อกังวลของทั้งกัมพูชาและเวียดนาม เป็นที่ชัดเจนว่าควรหยุดการก่อสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงทั้งหมด จนกว่าการตัดสินใจอย่างรับผิดชอบจะเกิดขึ้นได้”

การที่ลาวเดินหน้าอสร้างเขื่อนที่จะเกิดผลกระทบ ทั้งเขื่อนไซยะบุรีและดอนสะโฮง เป็นความพยายามทำร้ายอนาคตและวิถีชีวิตของประชาชนอีกหลายล้านคน แม่น้ำโขงได้กลายเป็นสนามทดลองเทคโนโลยีที่ยังไม่เคยผ่านการพิสูจน์ว่าช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากเขื่อนได้จริง นอกจากนี้ทั้งสองเขื่อนก็ยังไม่มีการเก็บข้อมูลพื้นฐานอย่างเพียงพอ

“เราไม่อาจปล่อยให้มีการตัดสินใจใช้ประโยชน์ทรัพยากรร่วมกันของภูมิภาค โดยไม่คำนึงถึงองค์ความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องที่เสี่ยงเกินไป รัฐบาลประเทศลุ่มน้ำโขงต้องยืนยันพันธกิจที่จะร่วมมือส่งเสริมความยั่งยืนของแม่น้ำโขง ต้องยุติการก่อสร้างเขื่อนใด ๆ จนกว่าการศึกษาของคณะมนตรีแม่น้ำโขงจะแล้วเสร็จ” Trandem กล่าวต่อ “การศึกษาชิ้นนี้มีความสำคัญ ไม่ควรล่าช้า และไม่ควรถูกมองข้าม ถ้าคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงไม่สามารถแก้ปัญหาเพื่อให้การศึกษาเดินหน้าไปได้ เราจำเป็นต้องมีเวทีใหม่เพื่อการพูดคุยและแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับโครงการเหล่านี้อย่างเร่งด่วน”

Media contacts: 
  • เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานการรณรงค์ประเทศไทยของ International Rivers 
    โทรศัพท์ +66 81 422 0111 อีเมล์ pai@internationalrivers.org