สรุปสถานการณ์โครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน

By: 
เครือข่ายสาละวินวอชต์ Salween Watch
Date: 
Friday, March 14, 2014
แผนสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินในจีน-พม่า และชายแดนไทย-พม่า
แผนสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินในจีน-พม่า และชายแดนไทย-พม่า
เครือข่ายสาละวินวอชต์ Salween Watch

เดือนสิงหาคม 2556 มีรายงานข่าวว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงไฟฟ้าพม่าเปิดเผยว่าพม่ากำลังมีแผนพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ 6 แห่งบนแม่น้ำสาละวินในพม่า ได้แก่ เขื่อนสาละวินตอนบน หรือกุ๋นโหลง (1,400 เมกกะวัตต์) เขื่อนหนองผา (1,000 เมกกะวัตต์) เขื่อนมายตง หรือเขื่อนท่าซาง (7,110 เมกกะวัตต์)  เขื่อนมานตอง บนแม่น้ำสาขา (200 เมกกะวัตต์) ทั้งสามโครงการนี้อยู่ในรัฐฉาน เขื่อนยวาติ๊ด ในรัฐคะยา หรือรัฐคะเรนนี (4,000 เมกกะวัตต์) และเขื่อนฮัตจี ในรัฐกะเหรี่ยง (1,360 เมกกะวัตต์) ทั้งหมดนี้เป็นการลงทุนโดยบริษัทจีน กฟผ.อินเตอร์ ของไทย และบริษัทพม่า โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการ 4-10 ปีหลังจากลงนามในข้อตกลง

ข้อมูลจากสำนักข่าวในไทย ยังระบุถึงอีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการแม่สะเรียง 1 และ แม่สะเรียง 2 ซึ่งไม่มีข้อมูลใดๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับเขื่อนทั้ง 2 โครงการนี้ คาดว่าหมายถึงโครงการเขื่อนส่าละวินชายแดนไทย-พม่า หรือเวยจี และดา-กวิน ซึ่งเป็นโครงการเดิมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เคยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อพัฒนาโครงการกับพม่าไว้

แม่น้ำสาละวินที่ไหลจากเทือกเขาหิมาลัยในทิเบต สู่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน สู่พม่าและไทย รวมความยาว 2,800 กิโลเมตรจากยอดเขาสู่ทะเลอันดามัน เป็นแม่น้ำนานาชาติสายท้ายๆ ในโลก ที่ยังคงไหลอย่างอิสระ แม่น้ำสาละวินมีความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศมากที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาค และเป็นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อย่างน้อย 13 กลุ่ม อาทิ นู ลีซู ตู่หลง ไทใหญ่ กะเหรี่ยง ปะโอ คะเรนนี มอญ

กว่าทศวรรษที่ผ่านมามีการวางแผนโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน ทั้งหมด 13 โครงการในเขตประเทศจีน และอีก 6 โครงการบนลุ่มน้ำทางตอนล่าง ในพม่า และชายแดนไทย-พม่า

ที่ผ่านมามีข้อมูลจากในพื้นที่เขื่อนเหล่านี้ออกมาสู่สาธารณะน้อยมาก เนื่องจากความไม่สงบในรัฐชาติพันธุ์ในพม่า และมักไม่มีการเปิดเผยข้อมูลจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายสาละวินวอชต์จึงรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการเขื่อน ซึ่งมีความเคลื่อนไหวและความคืบหน้า ดังนี้

โครงการเขื่อนสาละวินตอนบนในจีน

แม่น้ำสาละวินตอนบนมีแผนก่อสร้างเขื่อนแบบขั้นบันได 13 เขื่อน แต่การก่อสร้างได้หยุดไปหลายรอบเนื่องจากการคัดค้านจากองค์กรภาคประชาสังคมและเหตุผลด้านความเสี่ยงทางธรณีวิทยา ในแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 12 ของจีนมีโครงการเขื่อน 5 โครงการจาก 14 โครงการ วางแผนที่จะเริ่มการก่อสร้าง ได้แก่ เขื่อนซองทา หม่าจี ยาปีลั่ว ลิ่วคู่ และไซ่เก๋อ สำหรับเขื่อนซองทาซึ่งตั้งอยู่ใกล้ชายแดนมณฑลยูนนาน-ทิเบต มีการเริ่มเตรียมการในเบื้องต้น มีรายการว่าพบอุปกรณ์และพาหนะที่ใช้ในการสำรวจที่หัวงานเขื่อนหลายแห่ง โดยเฉพาะที่เขื่อนหม่าจี แต่จวบจนต้นปี 2557 ยังไม่เริ่มการก่อสร้างแต่อย่างใด    

แม่น้ำสาละวินไหลพาดผ่านรอยเลื่อนเปลือกโลกที่สำคัญ นักธรณีวิทยาได้เตือนถึงความเสี่ยงต่อภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นหากเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินตอนบนเดินหน้าก่อสร้างและกักเก็บน้ำซึ่งจะกระตุ้นการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก-แผ่นดินไหว

ตอลดลุ่มน้ำสาละวินตอนบนในจีนมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กว่า 10 กลุ่มอาศัยอยู่ซึ่งวิถีชีวิตของประชาชนเหล่านี้จะได้รับผลกระทบโดยตรงหากมีการก่อสร้างเขื่อน รายงานฉบับล่าสุดขององค์กรภาคประชาสังคม 19 องค์กร ที่ชื่อว่า “รายงานฉบับสุดท้ายของแม่น้ำจีน” ได้เรียกร้องให้ชะลอโครงการเขื่อนทั้งหมดบนแม่น้ำสาละวินตอนบน เพื่อเก็บรักษาไว้เป็นแม่น้ำสายสุดท้ายที่ยังไหลอย่างอิสระเพื่อคนรุ่นต่อๆ ไป

โครงการเขื่อนกุ๋นโหลง

ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของรัฐฉาน เขตปกครองของกองกำลังโกก้าง ใกล้ชายแดนจีน เขื่อนมีกำลังผลิตติดตั้ง 1,400 เมกกะวัตต์ ไฟฟ้าจำนวน 1,200 เมกกะวัตต์จะส่งไปขายยังประเทศจีนโดยเชื่อมต่อกับระบบสายส่งจีนใต้ ข้อมูลจากบริษัท Hydrochina Kunmig Engineering ระบุว่ามีหมู่บ้านหลายแห่งที่จะได้รับผลกระทบ โดยมีการจัดทำรายการการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไปแล้วแต่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูล และมีการก่อสร้างโครงการอย่างลับๆ โดยคืบหน้าไปมากแล้ว

สำหรับผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ เมื่อปี 2553 กองทัพพม่าได้ส่งกำลังเข้าไปโจมตีกองกำลังโกก้างซึ่งไม่ยอมเข้าเป็นกองกำลังคุ้มครองชายแดน (BGF) ตามนโยบายของกองทัพพม่า ส่งผลให้ประชาชนกว่า 30,000 คน ต้องอพยพหนีการสู้รบไปยังชายแดนจีน

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (Shan Human Rights Foundation – SHRF) ออกรายงานระบุว่าโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินนอกจากกระทบกับชาวบ้านในพื้นที่แล้ว อาจยังส่งผลกระทบต่อการสร้างสันติภาพในพม่า พบว่าในพื้นที่สร้างเขื่อนมีการสู้รบกันระหว่างกองทัพพม่าและกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม จึงเรียกร้องให้ยุติสร้างเขื่อน

ในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเปิดเผยว่า พื้นที่สร้างเขื่อนในเมืองกุ๋นโหลง ซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองโก้ดข่ายนั้นยังไม่มีความมั่นคง เพราะอยู่ใกล้กับพื้นที่ควบคุมของกองกำลังโกกั้ง และเขตปกครองของกองทัพว้า นอกจากนี้ยังพบมีผู้ลี้ภัยในพื้นที่ จากการปะทะกันอยู่บ่อยครั้งระหว่างทหารพม่า และทหารดาระอั้ง( Ta’ang National Liberation Army -TNLA) รวมถึงทหารคะฉิ่น KIA (Kachin Independence Army) ขณะที่ปัจจุบันพบว่า มีทหารพม่าทั้งหมด 5 กองพันประจำอยู่ในเขตพื้นที่สร้างเขื่อน

ขณะที่ก่อนหน้านี้รองรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของพม่าได้กล่าวในรัฐสภาว่า มีแผนจะสร้างเขื่อน 6 แห่งบนแม่น้ำสาละวิน โฆษกของ SHRF เปิดเผยว่าไร่นาและที่ดินซึ่งเป็นของชาวบ้านราว 2 หมื่นคน จาก 60 กว่าหมู่บ้านตามแม่น้ำสาละวินกำลังถูกทำลายนับตั้งแต่เริ่มมีการก่อสร้างถนนเชื่อมไปยังโครงการเขื่อน โดยชาวบ้านไม่ได้รับเงินชดเชยใดๆ “ชาวบ้านไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆจากโครงการนี้ ดังนั้นโครงการสร้างเขื่อนนี้ควรจะยุติ”

โครงการเขื่อนหนองผา

ตั้งอยู่ในรัฐฉาน มีการลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อพัฒนาโครงการเมื่อครั้งที่นายสีจิ้นผิง รองประธานาธิบดีจีนเดินทางเยือนพม่าในปี 2553 ที่ผ่านมามีการเปิดเผยข้อมูลโครงการเขื่อนหนองผาน้อยมาก และการเข้าถึงพื้นที่เป็นไปได้ยาก ทำให้แทบไม่มีข้อมูลในพื้นที่ออกสู่ภายนอก

โครงการเขื่อนหนองผาเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลพม่า บริษัทสัญชาติพม่า International Group of Entrepreneurs-IGE และบริษัท Hydrochina Corporation สัดส่วนในการถือหุ้น คือรัฐบาลพม่าร้อยละ 15 และสองบริษัทอีกร้อยละ 85 เขื่อนหนองผามีกำลังผลิตติดตั้ง 1,200 เมกกะวัตต์ โดยไฟฟ้าร้อยละ 90 จะส่งไปขายแก่ประเทศจีน

เขื่อนหนองผาตั้งอยู่ในเขตปกครองพิเศษของกองกำลังสหรัฐว้า (UWSA) ในปี2556 กองทัพพม่าได้ส่งกำลังพลกว่า 1,000 คน เข้าล้อมพื้นที่ของกองกำลังไทใหญ่ SSPP/SSA (เหนือ) และ RCSS/SSA (ใต้)  ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์และเป็นบริเวณติดกับพื้นที่ของว้า UWSA ทหารพม่าส่งสัญญาณเข้าโจมตีว้าในอนาคตอันใกล้  ซึ่งบริเวณที่จะสร้างเขื่อนจึงตั้งอยู่ในพื้นที่การสู้รบ 

โครงการเขื่อนท่าซาง

ปัจจุบันมีชื่อเรียกหลายชื่อ อาทิ เขื่อนสาละวินตอนเหนือ (Upper Thanlwin) หรือเขื่อนมายตง (Mangtong, Mai Tong) ตามชื่อเมืองโต๋น ที่ตั้งของเขื่อนในรัฐฉาน เป็นการร่วมทุนของ กฟผ.อินเตอร์ (บริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) บริษัท China Three Gorges Corp และ Sinohydro เขื่อนท่าซางมีกำลังผลิตติดตั้ง 7,110 เมกกะวัตต์ โดยข้อมูลจากกฟผ. ระบุว่า กฟผ.อินเตอร์ ถือหุ้น 56.5 % มีวงเงินลงทุนรวม 3.6 แสนล้านบาท

หลังจากการกวาดล้างใหญ่โดยกองทัพพม่าในช่วงปี 2539 ที่ทำให้ประชาชนในรัฐฉานกว่า 3 แสนคนต้องหนีภัยสงครามออกจากพื้นที่ซึ่งส่วนหนึ่งคือพื้นที่เขื่อนท่าซาง ในช่วงที่ผ่านมายังมีการสู้รบในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

ในเดือนธันวาคม 2556 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนไทใหญ่รายงานว่าชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งจะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำของเขื่อนท่าซางถูกทหารพม่าเกณฑ์แรงงานทาส ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ในอ่างเก็บน้ำ รายงานระบุว่าทหารพม่าจำนวน 4 กองพลได้เกณฑืแรงงานชาวบ้านใน 9 หมู่บ้านในเขตเมืองปูหลงเพื่อนำทางให้แก่หทาร สร้างและซ่องแซมค่ายทหารและถนน นอกจากนี้ยังมีการรีดไถอาหารและเงินจากชาวบ้าน การรีดนาทาเร้นดังกล่าวส่งผลต่อการอพยพของผู้ลี้ภัยสู่ชายแดนไทยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่รัฐฉาน

ชายวัน 40 ปีจากเมืองปูหลงที่เพิ่งอพยพมาถึงชายแดนที่ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าครอบครัวของตนเพิ่งมาถึงในปี 2556 เนื่องจากถูกทหารพม่าบังคับใช้แรงงาน แบกของให้แก่หทาร มีหลายครั้งที่ชาวบ้านเกือบเหยียบโดยกับระเบิด “ไปเป็นแรงงาน (ให้ทหารพม่า) บางครั้งต้องไป 10 วัน ต้องเอาข้าวไปเอง งานของตัวเองไม่ได้ทำ ต้องไปแบกของหนักๆ บางครั้งเกือบเดินไม่ไหว”

พื้นที่โครงการเขื่อนยังมีการสู้รบอย่างต่อเนื่อง ในเดือนพฤศจิกายนมีการปะทะระหว่างของทัพรัฐฉานใต้ SSA-S และกองทัพพม่าใกล้ๆ กับท่าสบบูบนแม่น้ำสาละวิน

เขตเมืองปูหลงยังคงมีป่าสักที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในพม่า อย่างไรก็ตามนับต้องแต่เดือนธันวาคม 2554 เป็นต้นมากองทัพพม่าก็ได้อำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มต่างๆ เข้ามาทำไม้ในพื้นที่ซึ่งจะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ

โครงการเขื่อนยวาติ๊ด

ตั้งอยู่ไม่ไกลจากจุดที่แม่น้ำปายบรรจบแม่น้ำสาละวิน ในรัฐคะยา หรือรัฐคะเรนนี เป็นโครงการของบริษัทต้าถัง (Datang)  จากจีน ซึ่งลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับรัฐบาลพม่าเมื่อปี 2553 ข้อมูลเดิมระบุว่าเขื่อนยวาติ๊ดมีกำลังผลิตติดตั้ง 600 เมกกะวัตต์ แต่ข้อมูลจากเว็บไซต์ของบริษัทต้างถัง ณ เดือนมีนาคม 2556 ระบุว่าเขื่อนมีกำลังผลิตสูงถึง 4,500 เมกกะวัตต์

กลุ่มสิ่งแวดล้อมคะเรนนีรายงานว่ามีการสัมปทานทำไม้อย่างมหาศาลในพื้นที่รอบๆ เขื่อนยวาติ๊ด มีการปรับถนนจากลอยก่อ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐคะเรนนี สู่เมืองบอเลอเค และยวาติ๊ด

หมู่บ้านรอบๆ เขื่อนยวาติ๊ดได้อพยพหนีภัยสงครามออกจากพื้นที่ไปกว่าสิบปีแล้ว ส่วนใหญ่เป็นผู้ลี้ภัยที่อาศัยตามแนวชายแดน โดยเฉพาะแถบจ.แม่ฮ่องสอน อย่างไรก็ตามข้อมูลล่าสุดระบุว่ายังมีชาวบ้านอาศัยอยู่รอบๆ ยวาติ๊ดจำนวนหนึ่งโดยจัดเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced Persons-IDPS) ชาวบ้านกลุ่มนี้ต้องหนีไปซ่อนตัวในมาในช่วงที่มีการสู้รบ

รัฐคะเรนนีเคยมีบทเรียนอันเจ็บปวดจากการสร้างเขื่อนโมบีและโรงไฟฟ้าลอปิตาเมื่อกว่า 30 ปีก่อน โรงไฟฟ้าลอปิตาซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของพม่า ทำให้ประชาชน 12,000 คน ต้องถูกถอนรากถอนโคนออกจากถิ่นฐาน กองทัพพม่าส่งทหารนับพันเข้ามาคุ้มครองโรงไฟฟ้า นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนนานัปประการโดยทหารพม่า อาทิ การทารุณกรรมทางเพศ การสังหาร และการบังคับใช้แรงงานทาส นอกจากนี้ยังมีการวางกับระเบิดกว่า 18,000 อันรอบๆ โรงไฟฟ้าและแนวสายส่ง

เขื่อนยวาติ๊ดมีการสำรวจโดยทีมจีน-พม่า เพื่อเตรียมก่อสร้างอย่างจริงจังในช่วงปี 2553 มีรายงานว่ามีการซุ่มโจมตีรถของคณะสำรวจที่ใกล้เมืองพรูโซในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มีวิศวกรชาวจีนเสียชีวิต 3 ราย

ต่อมาในปี 2554 มีการตั้งค่ายทหารของกองกำลังรักษาชายแดนของกองทัพพม่า (BGF) หมายเลข 1005 และมีกองกำลังพิเศษที่มีภารกิจรักษาความปลอดภัยของคณะสร้างเขื่อนชาวจีน รายงานว่าผู้บัญชาการพิเศษภาคพื้น 55 ที่มีฐานอยู่ที่บอลาเค ได้เดินทางไปยังพื้นที่ยวาติ๊ดเพื่อตรวจการณ์และรักษาความปลอดภัยแก่การก่อสร้างเขื่อนอย่างเข้มงวด

กองกำลังคะเรนนี (KNPP) ได้ลงนามตามข้อตกลงหยุดยิงกับกองทัพพม่า 14 ข้อ ในปี 2555 ข้อตกลงมีเนื้อหาระบุถึงโครงการเขื่อนยวาติ๊ดว่า “ จะมีการสร้างความโปร่งใสในโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ (รวมถึงเขื่อนยวาติ๊ด) ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันในการให้ข้อมูลแก่สาธารณะ และอนุญาตให้ประชาชนและองค์กรชุมชนหาข้อมูลได้” อย่างไรก็ตามเมื่อกลุ่มสิ่งแวดล้อมลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลกลับถูกจับกุมโดยทางการพม่าและห้ามเข้าพื้นที่เขื่อน

เครือข่ายประชาสังคมคะเรนนี (Karenni Civil Society Network) รายงานเมื่อเดือนมีนาคม 2557 ว่าในพื้นที่ยังไม่พบการเตรียมการก่อสร้างเขื่อน อย่างไรก็ตามกองกำลังทหารพม่ายังคงตรึงกำลังหนาแน่นในพื้นที่รอบๆ กลางปี 2556 รัฐบาลพม่าแจ้งแก่กองกำลังคะเรนนี Karenni National Progressive Party ว่ามีความประสงค์จะสร้างถนนยุทธศาสตร์เพื่อเชื่อมฐานทหารจากชาด่อ ทางเหนือของรัฐคะเรนนีลงมายังยวาติ๊ด

แม้จะมีข้อตกลงหยุดยิงกับกองกำลังคะเรนนี KNPP แต่กองทัพพม่าในพื้นที่ยังมีการซ้อมรบในพื้นที่ ในเดือนมกราคม 2557 ทหารพม่าจำนวน 1,000 นายได้ฝึกซ้อมซ้อมรบโดยยิงปืนใหญ่ ทำให้สัตว์เลี้ยงของล้มตาย และสร้างความหวาดกลัวแก่ชาวบ้านไม่กล้าออกไปไร่นา

เครือข่ายประชาสังคมคะเรนนียังรายงานอีกว่ารัฐมนตรีพม่าได้ประชาสัมพันธ์โครงการเขื่อนแห่งใหม่แก่ชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2556 อูชิตลา รัฐมนตรีคมนาคมรัฐคะเรนนี และซอฮูฮู รัฐมนตรีไฟฟ้าและอุตสหกรรมรัฐคะเรนนี ได้เรียกประชุมสาธารณะที่เมืองผาซอง โดยแจ้งแก่ประชาชนว่าเขื่อนจะผลิตไฟฟ้า 700 เมกกะวัตต์และชาวบ้านจะได้ใช้ไฟฟ้า

ทางตอนเหนือของเขื่อนได้มีการทำไม้โดย 2 บริษัท ได้แก่ Kayah Htanee และ Ashe Thanlwin ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับกองกำลังในพื้นที่

โครงการเขื่อนฮัตจี

ตั้งอยู่ในรัฐกะเหรี่ยง ห่างจากชายแดนไทย-พม่า ที่บ้านสบเมย จ.แม่ฮ่องสอน 47 กิโลเมตร ลงทุนโดยกฟผ.อินเตอร์ ร่วมกับบริษัทไซโนไฮโดร จากจีน มีกำลังผลิตติดตั้ง 1,360 เมกกะวัตต์ มูลค่าลงทุน 8 หมื่นล้านบาท โครงการเขื่อนฮัตจีถูกคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่มาโดยตลอด โดยเฉพาะหมู่บ้านในฝั่งไทยแถบอ.แม่สะเรียง และอ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เนื่องจากกังวลผลกระทบข้ามพรมแดนต่อระบบนิเวศ พันธุ์ปลา การประมง และอ่างเก็บน้ำของเขื่อนที่อาจท่วมมาถึงพื้นทีทำกินและอาศัยของหลายหมู่บ้านริมแม่น้ำสาละวิน

รายงานต่างๆ ของกลุ่มสิทธิมนุษยชนในพื้นที่แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนฮัตจีและบริเวณใกล้เคียงยังคงเป็นพื้นสู้รบ และยังมีประชาชนอพยพออกมาจากพื้นที่เนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าว ตลอดจนการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยกองกำลังทหารพม่า และDKBA อาทิ การเรียกเกณฑ์แรงงานทาส การเรียกเก็บภาษีนอกระบบ และการข่มขืน

ในส่วนของไทย สำนักนายกรัฐมนตรีในช่วงพ.ศ. 2552 ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและติดตามผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากโครงการนี้ และได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้ได้รับผลกระทบในช่วง พ.ศ. 2554 ในเวทีรับฟังความคิดเห็นที่อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน มีชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบเข้าร่วมจำนวนมาก ชาวบ้านได้สะท้อนความกังวลเรื่องผลกระทบจากเขื่อน ทั้งในด้านระบบนิเวศ วิถีชีวิต และผลกระทบต่อชาวบ้านในฝั่งพม่า แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบจากในเวที

คณะอนุกรรมการฯ มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลให้ทำการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนครอบคลุมหมู่บ้านในฝั่งไทย ต่อมากฟผ.อินเตอร์ ได้ว่าจ้าง ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมโครงการไฟฟ้าพลังน้ำฮัจยีบริเวณชายแดนไทย-พม่าโดยรายงานฉบับเดือนธันวาคม 2556 ระบุว่าครัวเรือนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในระดับสูง (ตั้งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 48-57 เมตร) เพียง 1 ครัวเรือน ที่บ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน นอกนั้นมีระดับความเสี่ยงปานกลางและต่ำ

กฟผ. และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดการประชุมการมีส่วนร่วมย่อย ที่อ.แม่สะเรียงเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2556 แต่เครือข่ายชาวบ้านในพื้นที่ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการศึกษาดังกล่าว เนื่องจากกระบวนการไม่มีส่วนร่วมของผู้ได้รับผลกระทบ และการจัดระดับความเสี่ยงของครัวเรือนไม่สามารถยอมรับได้เนื่องจากไม่ได้ศึกษาถึงผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและทรัพยากร

ช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่ากฟผ. มีความเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันโครงการอย่างต่อเนื่อง มีรายงานว่ามีการพยายามเจรจากับผู้นำกองกำลังสหภาพชนชาติกะเหรี่ยง หรือเคเอ็นยู หลายครั้งในช่วง พ.ศ.2555-2556 ชาวบ้านในพื้นที่ อ.สบเมยยังรายงานว่ามีคณะของกฟผ.และบริษัทจีนลงสำรวจแม่น้ำสาละวินระหว่างสบเมย-บ้านแม่สามแลบ-บ้านท่าตาฝั่ง สร้างความกัลวลใจต่อชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากไม่มีการแจ้งหรือจัดเวทีปรึกษากับชุมชนก่อน ทั้งที่มีข้อเสนอแนะจากสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว

การเร่งรีบสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในเขตรัฐกะเหรี่ยงของนักลงทุนในพม่า เป็นอุปสรรคคุกคามต่อการเจรจาสันติภาพระหว่างกองกำลังกะเหรี่ยง KNU และรัฐบาลพม่า การเพิ่มกำลังทหารของกองทัพพม่าบริเวณที่ตั้งเขื่อนและการไม่ใส่ใจไยดีต่อข้อกังวลของชุมชนที่จะได้รับผลกระทบ ทำให้เกิดความตึงเครียดเพิ่มขึ้น และทำให้เกิดข้อสงสัยต่อความจริงใจของรัฐบาลพม่าในการจัดเจรจาสันติภาพ

ที่ผ่านมากองทัพ KNU เรียกร้องให้ยุติโครงการเขื่อนฮัตจีจนกว่าจะมีแนวทางสันติภาพชัดเจนในพม่า แต่ด้วยแรงกดดันจากบริษัทจีนและกฟผ. เป็นเหตุให้ทาง KNU ต้องยินยอมให้มีการสำรวจพื้นที่สร้างเขื่อน

ปัจจุบันกองทัพพม่าเพิ่มจำนวนทหารเข้ามาในพื้นที่รอบๆ เขื่อนฮัตจีทั้งฝั่งซ้ายและขวา รวมเป็น 8 กอง