บทเรียนที่ไม่เคยจดจำ จากไซยะบุรีสู่ดอนสะโฮง หายนะบนลำน้ำโขง

Date: 
Wednesday, June 18, 2014

ใบแถลงข่าวสำหรับเผยแพร่ทันที  

18 มิถุนายน 2557 

กรุงเทพฯ ประเทศไทย – การลงพื้นที่ล่าสุดขององค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ยืนยันว่า การก่อสร้างที่นำไปสู่การการพัฒนาเขื่อนดอนสะโฮงทางใต้ของลาวยังดำเนินต่อไป แม้มีเสียงคัดค้านจากรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน และเสียงเรียกร้องอย่างต่อเนื่องให้มีการปรึกษาหารือระดับภูมิภาค การก่อสร้างที่เกิดขึ้นทำให้กังวลว่าเขื่อนดอนสะโฮงกำลังพัฒนาไปในทิศทางที่อันตราย เช่นเดียวกับกรณีเขื่อนไซยะบุรี นั่นคือมีการก่อสร้างโดยยังไม่มีการปรึกษาหารือประเทศเพื่อนบ้าน การศึกษาผลกระทบยังไม่แล้วเสร็จ และยังไม่ได้ทำความเข้าใจอย่างชัดเจนถึงผลกระทบข้ามพรมแดนของโครงการ  
”การก่อสร้างเพื่อปูทางไปสู่การพัฒนาเขื่อนดอนสะโฮง เป็นการทำผิดซ้ำซากซึ่งไม่น่ายินดีสำหรับทั้งชุมชนและรัฐบาลในแม่น้ำโขง เนื่องจากลาวตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียวที่จะเดินหน้าโครงการซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทั้งภูมิภาค” เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานการรณรงค์ประเทศไทยของ International Rivers กล่าว “ความเสี่ยงนั้นจะเกิดขึ้นนอกเหนือพรมแดนประเทศลาว เขื่อนดอนสะโฮงจะส่งผลกระทบที่ไม่สามารถแก้ไขได้ต่อวิถีชีวิต และความมั่นคงทางอาหารทั่วภูมิภาคลุ่มน้ำโขง แต่ลาวกลับไม่ใส่ใจที่จะเคารพข้อเรียกร้องของประเทศเพื่อนบ้านให้ยุติการก่อสร้าง เพื่อให้มีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนและมีการปรึกษาหารือเพิ่มเติมเสียก่อน”  

การเลงพื้นที่เมื่อต้นเดือนมิถุนายนยืนยันว่า คนงานเริ่มก่อสร้างสะพานเชื่อมต่อจากแผ่นดินใหญ่ไปยังดอนสะดำ สะพานดังกล่าวเป็นเส้นทางสู่การก่อสร้างในบริเวณฮูสะโฮง ทั้งนี้ชาวบ้านดอนสะโฮงได้รับแจ้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว ว่าต้องอพยพออก แต่ยังไม่ทราบว่าต้องย้ายเมื่อไร ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับอนาคต ในขณะเดียวกันมีการห้ามหาปลาบริเวณฮูช้างเผือก เพื่อให้บริษัท Mega First Corporation จากมาเลเซียเข้าไปพัฒนา “ช่องทางปลาผ่าน” แต่ไม่มีการชดเชยหรือมาตรการช่วยเหลือแก่ครอบครัวที่ต้องหยุดหาปลา 

เวียดนาม กัมพูชา และไทยระบุอย่างชัดเจนว่า เขื่อนดอนสะโฮงต้องเข้าสู่กระบวนการ “ปรึกษาหารือล่วงหน้า” ตามข้อกำหนดในความตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 ทั้งสามประเทศแสดงจุดยืนชัดเจนในการยื่นจดหมายต่อรัฐบาลลาว ภายหลังจากที่มีเพียง “การแจ้งให้ทราบล่วงหน้า” เท่านั้น และเน้นย้ำข้อเรียกร้องในระหว่างการประชุมสมัยวิสามัญของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission - MRC) ในเดือนมกราคม ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงครั้งที่สองที่กรุงโฮจิมินห์ซิตี้เมื่อเดือนเมษายน เวียดนามและกัมพูชาเน้นย้ำจุดยืนอีกครั้งในการเรียกร้องให้ลาวยุติการก่อสร้างเขื่อนทุกแห่งในแม่น้ำโขงสายหลักเป็นเวลา 10 ปี จนกว่าจะมีการศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งมีทั้งการศึกษาผลกระทบต่อสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง และการศึกษาของคณะมนตรีแม่น้ำโขง อย่างไรก็ดี รัฐบาลลาวไม่ได้ใส่ใจต่อคำร้องขอดังกล่าว

“ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ประเทศท้ายน้ำมีสิทธิร้องขอให้มีการปรึกษาหารืออย่างเต็มที่” เอมี่ แทรนเดม  ผู้อำนวยการแผนกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ International Rivers กล่าว “ถึงเวลาที่ลาวต้องเคารพสิทธิของประเทศเพื่อนบ้าน และต้องยอมรับตามข้อเสนอให้ชะลอโครงการ 10 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้มีการตัดสินใจร่วมกันบนพื้นฐานข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ และการปรึกษาหารือเกี่ยวกับอนาคตของแม่น้ำโขงที่ใช้ร่วมกัน”  

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ทางวุฒิสภาแห่งราชอาณาจักรกัมพูชายังได้แสดงท่าทีคัดค้านเขื่อนดอนสะโฮง รวมทั้งเขื่อนไซยะบุรี โดยทำจดหมายยื่นให้กับผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขง บรรดาวุฒิสมาชิกเหล่านี้เรียกร้องให้ชะลอเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮงทันที และเรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี ในจดหมายระบุว่า “โครงการ [เขื่อนไซยะบุรี] จะก่อให้เกิดภัยคุกคามข้ามพรมแดนครั้งใหญ่สุดเท่าที่มีมาต่อความมั่นคงด้านอาหาร สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ การพัฒนาที่ยั่งยืน และความร่วมมือในภูมิภาคในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง” และระบุว่า ที่ผ่านมาโครงการเขื่อนไซยะบุรียังไม่ปฏิบัติตามกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของ MRC ซึ่งเป็นข้อกำหนดตามความตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 

สำหรับประเทศไทย ในวันที่ 24 มิถุนายน ศาลปกครองสูงสุดของไทยจะมีคำสั่งว่า จะรับพิจารณาคดีที่ฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐบาลทั้งห้าแห่ง รวมทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งได้ทำความตกลงรับซื้อไฟฟ้า 95% จากเขื่อนไซยะบุรีหรือไม่ คดีนี้ชาวบ้าน 37 คนจากจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากเขื่อนไซยะบุรี ได้ยื่นฟ้องไว้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2555

ในการเตรียมการจัดประชุมคณะมนตรีแม่น้ำโขงครั้งที่ 20 ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย ในวันที่ 26 มิถุนายน เสียงจากภาคส่วนต่างๆ ยิ่งดังก้องมากขึ้นเรื่อยๆ “ถึงเวลาที่จะต้องคิดถึงอนาคตของแม่น้ำโขงกันอย่างจริงจังอีกครั้ง แต่ในคราวนี้ คงไม่มีความสับสนเกี่ยวกับจุดยืนของประเทศเวียดนาม กัมพูชา และไทยต่อไปอีก ลาวต้องตระหนักและยอมรับว่าแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่ใช้ร่วมกัน การตัดสินใจใด ๆ ต้องกระทำร่วมกันในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ทั้งนี้เพื่อรักษาอนาคตของทรัพยากรที่ไม่อาจทดแทนได้แห่งนี้ต่อไป” เพียรพรกล่าว 

ในการประชุมคณะมนตรีแม่น้ำโขงสัปดาห์หน้าจะมีวาระการประชุมเพื่อพิจารณาว่า จำเป็นต้องกำหนดให้เขื่อนดอนสะโฮงเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าหรือไม่ หากทั้งสี่ประเทศไม่สามารถหาข้อยุติได้ ต้องมีการยกระดับการตัดสินใจไปสู่ระดับของการทูต และทำให้เกิดความเสี่ยงเช่นเดียวกับกรณีเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งยังคงเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข 

Media contacts: 
  • เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานการรณรงค์ประเทศไทย International Rivers โทรศัพท์ +66 81 422 0111 อีเมล์ pai@internationalrivers.org