จากไซยะบุรีถึงเขื่อนดอนสะโฮง สารพัดคำถามกับนโยบาย “แบตตเตอรี่” ลาว

By: 
โลมาอิรวดี
Date: 
Friday, January 31, 2014

ตีพิมพ์ใน เนชั่นสุดสัปดาห์  (ศุกร์ 31 มกราคม - พฤหัสบดี 6 กุมภาพันธ์ 2557)

หัวงานเขื่อนดอนสะโฮง
หัวงานเขื่อนดอนสะโฮง

เมื่อสัปดาห์ก่อนกองเลขาคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) จัดประชุมวาระพิเศษสำหรับ 4 ประเทศลุ่มน้โขงตอนล่าง อันได้แก่ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม เพื่อหารือกรณีโครงการเขื่อนดอนสะโฮง กั้นแม่น้ำโขง ในบริเวณสีพันดอน ลาวใต้ ใกล้กับชายแดนลาว-กัมพูชา ซึ่งโครงการเขื่อนแห่งที่สองบนแม่น้ำโขงตอนล่างแห่งนี้กำลังเป็นประเด็นที่เห็นไม่ตรงกันระหว่างลาว และอีก 3 ประเทศ 

ย้อนไปเมื่อเดือนกันยายน 2556 รัฐบาลลาวได้แจ้งให้ MRC ทราบถึงการตัดสินใจที่จะดำเนินการสร้างเขื่อน และยื่นเสนอโครงการนี้ โดยเป็นการแจ้งภายใต้ระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement - PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พศ.2538 ซึ่งเป็นเพียงการ “แจ้งเพื่อทราบ” เท่านั้น

ขณะที่กัมพูชา ไทยและเวียดนาม เมื่อได้รับการแจ้ง ต่างมีความเห็นว่าโครงการเขื่อนดอนสะโฮงนั้น “แจ้งเพื่อทราบ” ไม่เพียงพอ ต้องเป็น “การปรึกษาหารือล่วงหน้า” ที่จำเป็นต้องมีการปรึกษาหารืออย่างเป็นทางการและมีการประเมินทางเทคนิค 

ในการประชุมที่เวียงจันทน์จึงเป็นการให้ผู้แทน 4 ประเทศ มากถกกันเรื่องนี้โดยเฉพาะ คณะกรรมการร่วมที่เข้าประชุมประกอบด้วยสมาชิกคณะกรรมการร่วม เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากรัฐบาลของประเทศสมาชิกทั้ง 4 ประเทศ และผู้แทนระดับสูงจากสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง

โครงการดอนสะโฮง (Don Sahong Dam) ตั้งอยู่ที่เมืองโขง แขวงจำปาสัก จะกั้นช่องน้ำ “ฮูสะโฮง” ที่อยู่ระหว่างน้ำตกหลี่ผี และน้ำตกคอนพะเพ็ง มีกำลังผลิตติดตั้ง 260 เมกกะวัตต์ หรือมากกว่าเขื่อนปากมูลเพียง 2 เท่า แต่ความกังวลคือผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขง และการอพยพของปลา ซึ่งการศึกษาชี้ว่าร้อยละ 70 เป็นปลาอพยพทางไกล ว่ายไปวางไข่ทางตอนบนและตามลำน้ำสาขา 

ในการลงพื้นที่หลายครั้ง เราพบว่าชาวบ้านแถบเมืองโขงมีวิถีชีวิตพึ่งพิงการหาปลาเป็นหลัก ทั้งสร้างรายได้ ความมั่นคงทางอาหาร และวัฒนธรรม ในฤดูที่ปลาอพยพขึ้น หลี่ต่างๆ เต็มไปด้วยปลา บางครอบครัวที่มีหลี่ ระบุว่าใน 1 ฤดูกาลสามารถหาปลาได้ถึง 2-3 ตัน ปลาแม่น้ำโขงเลี้ยงชาวเมืองโขงมาหลายชั่วอายุคน เมื่อมีแผนจะสร้างเขื่อนปิดทางปลา สร้างความกังวลใจแก่คนท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง ชาวบ้านกลัวว่าจะสูญเสียอาชีพและ “หลี่” ที่เป็นมรดกสืบทอดกันมา แต่ด้วยข้อจำกัดทางการเมืองทำให้ไม่สามารถแสดงออกได้อย่างเสรี

ในที่ประชุมที่เวียงจัน ผู้แทนเวียดนามยืนยันว่าเขื่อนดอนสะโฮงควรผ่านกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า โดยยกข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะมีต่อเส้นทางการอพยพของปลา เนื่องจากฮูสะโฮงเป็นเส้นทางอพยพหลักของปลาในฤดูแล้ง (ช่องน้ำอื่นๆ เป็นน้ำตกที่ปลาไม่สามารถว่ายผ่านไปได้) ผู้แทนลาวได้ตอบชี้แจงว่ายังมีช่องน้ำอีก 2 ช่องที่ จะสามารถใช้เป็นเส้นทางอพยพทางเลือกสำหรับปลาได้ คือฮูสะดำ และฮูช้างเผือก

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษารองรับว่าฮูสะดำ และฮูช้างเผือก จะสามารถทดแทนได้หรือไม่   

หัวหน้าคณะผู้แทนกัมพูชาแสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมอย่างร้ายแรงต่อพื้นท้ายน้ำที่อยู่ติดกันในกัมพูชา นายเท นาวุธ หัวหน้าคณะผู้แทนกัมพูชากล่าวว่า “เราเห็นว่าเอกสารโครงการยังไม่สมบูรณ์และการศึกษายังไม่ครอบคลุมถึงประเด็นข้ามพรมแดนในประเทศอื่น ๆ”

ผู้แทนกัมพูชากล่าวว่า “การศึกษาและวิเคราะห์ดำเนินการโดยสปป.ลาวเพียงฝ่ายเดียว ในขณะที่ที่ตั้งโครงการอยู่ใกล้ชายแดนกัมพูชา-ลาวมาก การดำเนินงานของโครงการอาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงทันทีต่อพื้นที่ตอนล่างซึ่งอยู่ในประเทศกัมพูชา กล่าวคือ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม-เศรษฐกิจอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำ ตะกอนและแร่ธาตุต่าง ๆ อุปสรรคในการอพยพของปลาและการลดลงของชีวมวล คุณภาพน้ำที่เลวลง การสูญเสีย/การทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์และหายาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณคอนพะเพ็ง วังปลาซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของโลมา พื้นที่ชุ่มน้ำของกัมพูชา และทะเลสาบเขมร เป็นต้น

“จำเป็นจะต้องศึกษาและวิเคราะห์เพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบต่อการสร้างรายได้ ความมั่นคงทางอาหาร วิถีชีวิตของประชาชน อันเป็นผลมาจากผลกระทบข้ามพรมแดนต่อการอพยพของปลา ทั้งระหว่างและหลังการสร้างเขื่อน จากการเปลี่ยนแปลงลักษณะการไหลของน้ำและการปิดกั้นเส้นทางอพยพปลา ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่มาทดแทนการสูญเสียด้านการประมงและมาตรการรับมือในทางปฏิบัติจะต้องได้รับหยิบยกขึ้นมา”

นับเป็นการแสดงความกังวลอย่างเข้มข้นและตรงไปตรงมา ในฐานะของประเทศท้ายน้ำซึ่งอาจได้รับผลกระทบเต็มๆ  

สำหรับไทย แม้ว่าภาคเอกชนได้ลงทุนก่อสร้าง “เขื่อนไซยะบุรี” เขื่อนแห่งแรกบนน้ำโขงตอนล่าง ที่ภาคเหนือของลาว และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้าเกือบทั้งหมดจากเขื่อนไซยะบุรี แต่ในการประชุมครั้งนี้ผู้แทนไทย นำโดยกรมทรัพยากรน้ำ ก็มีข้อสงสัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพและการใช้งานได้จริงของเส้นทางอพยพปลาที่ทดแทนช่องน้ำที่จะถูกเขื่อนกั้น และขอให้มีการปรึกษาหารือระหว่างประเทศสมาชิกมากกว่านี้ก่อนที่จะดำเนินโครงการ เพื่อให้ความกระจ่างเกี่ยวกับประเด็นนี้และประเด็นอื่น ๆ

ผู้แทนฝ่ายไทยกล่าวในที่ประชุมว่า “ไทยเสนอแนะว่า โครงการดังกล่าวควรผ่านการปรึกษาหารือเพื่อหารือร่วมกันระหว่างภาคีสมาชิกและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง”

ส่วนประเทศปากแม่น้ำโขง เวียดนามมีความเห็นเช่นเดียวกันเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงปริมาณการไหลของแม่น้ำ และการทับถมของตะกอน ดร.เลอดุก ตรุง หัวหน้าคณะผู้แทนเวียดนามกล่าวว่า “เราเห็นว่าการประมงจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ

เป็นไปไม่ได้ที่จะแทนที่ฮูสะโฮงด้วยลำน้ำดัดแปลงเพื่อการอพยพของปลา ควรทำการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบทางสังคมที่จะเกิดขึ้นจากการประมงที่ต้องสูญเสียไป”

สุดท้ายการประชุมจบด้วยการที่ไม่สามารถหาฉันทามติร่วมกันได้ และต้องยกวาระนี้ไปหารือกันในการประชุมคณะมนตรีแม่น้ำโขง ซึ่งคาดว่าจะจัดในเดือนเมษายน ก่อนที่จะประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขง (MRC Summit) ที่กรุงโฮจิมินห์ เวียดนาม

เขื่อนดอนสะโฮง ได้มีการลงนามพัฒนาโครงการกับบริษัทเมกกะเฟิร์ส (MFCB) สัญชาติมาเลเซีย  มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กัวลาลัมเปอร์ ธุรกิจหลักคือบริหารสินทรัพย์ เมื่อดูประวัติไม่เคยลงทุนในโครงการเขื่อนมาก่อน ขณะนี้คาดว่าอยู่ระหว่างรอการลงนามสัญญาสัมปทานโครงการ และจะหาผู้ร่วมทุนในการสร้างเขื่อนในเดือนเมษายน 

ขณะนี้โครงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนกลางและตอนล่างกำลังสร้างปัญหาอย่างยิ่งยวด ซึ่งอาจพัฒนาเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ ขณะที่ประชาชนในลุ่มน้ำโขงต่างตั้งคำถามมากมายถึงโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ว่าเป็นการพัฒนาหรือทำลาย 

แน่นอนว่าลาวในฐานะเจ้าของพื้นที่ซึ่งกำลังสร้างตัวเองให้เป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชีย จำเป็นต้องตอบคำถามประเทศเพื่อนบ้านและประชาชนมากกว่าคนอื่น

ไม่มีใครคิดขัดขวางการพัฒนาความเจริญของลาว แต่การนำเอาแม่น้ำโขงซึ่งเป็นสมบัติของภูมิภาคไปใช้เพื่อตัวเอง ลาวควรไตร่ตรองให้ดีถึงผลกระทบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เกิดขึ้น ลาวจะต้องรับผิดชอบอย่างไร