การลงทุนที่มีความเสี่ยงของ Mega First คุกคามอนาคตแม่น้ำโขง

By: 
Kate Ross
Date: 
Friday, May 22, 2015

 

The Nation, Opinion & Analysis

วันศุกร์ 22 พฤษภาคม 2558

โครงการลงทุนจากต่างชาติที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้เกิดความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ Mega-First Corporation Berhad (บริษัท Mega-First) น่าจะตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในการประชุมสามัญประจำปีในวันนี้ เนื่องจากประเทศดังกล่าวถูกวิจารณ์จากบทบาทการพัฒนาเขื่อนดอนสะโฮงอันอื้อฉาว ที่มีแผนก่อสร้างในแม่น้ำโขงในลาว

บริษัท Mega-First เป็นผู้พัฒนาโครงการจากมาเลเซียซึ่งผลักดันการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง เขื่อนแห่งที่สองในแม่น้ำโขงสายหลัก แม้จะมีเสียงต่อต้านจากรัฐบาลกัมพูชา ไทย และเวียดนาม และเสียงเรียกร้องให้มีการศึกษาผลกระทบของโครงการเพิ่มเติม

การไม่ใส่ใจต่อข้อกังวลของรัฐบาลในประเทศเพื่อนบ้าน สิทธิของชุมชนในแม่น้ำโขง และขั้นตอนปฏิบัติว่าด้วยความร่วมมือภูมิภาคในแม่น้ำโขง ทำให้เกิดข้อกังวลต่อบทบาทของบริษัท Mega-First ในโครงการซึ่งผลิตไฟฟ้าได้เพียง 260 เมกะวัตต์ แต่เสี่ยงจะทำให้เกิดปัญหาต่อความมั่นคงด้านอาหาร และชีวิตของประชาชนหลายล้านคนตลอดเส้นทางแม่น้ำโขง

เขื่อนดอนสะโฮงตั้งอยู่บริเวณสี่พันดอนตอนใต้ของลาว เป็นเอกลักษณ์ที่สะท้อนระบบนิเวศอันหลากหลายของแม่น้ำโขง พื้นที่แห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งประมงที่อุดมสมบูรณ์ เป็นที่อยู่ของพันธุ์ปลากว่า 200 ชนิด และยังเป็นพื้นฐานหล่อเลี้ยงอาหารและความเป็นอยู่ของชุมชนในท้องถิ่น

เขื่อนดอนสะโฮงจะกั้นร่องน้ำหลักในพื้นที่ ซึ่งปลาใช้อพยพตลอดทั้งปีระหว่างประเทศต่าง ๆ ในแม่น้ำโขง การขวางกั้นเส้นทางอพยพของปลา จะส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งและไม่อาจแก้ไขได้ต่อความมั่นคงด้านอาหารและชีวิตตลอดทั้งภูมิภาค

โครงการแห่งนี้ยังตั้งอยู่ห่างจากแหล่งอาศัยหลักของปลาโลมาอิระวดีที่ใกล้สูญพันธุ์เพียงหนึ่งกิโลเมตร และห่างไม่ถึงสองกิโลเมตรจากชายแดนกัมพูชา

แม้มีเสียงเตือนจากผู้เชี่ยวชาญและคำร้องขอจากรัฐบาลและชุมชนในแม่น้ำโขง บริษัท Mega-Firstไม่เคยดำเนินการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนของเขื่อนอย่างเพียงพอ

ประชาชนไทย กัมพูชาและเวียดนามต่อต้านอย่างเปิดเผยต่อโครงการ และเรียกร้องให้บริษัท Mega-First ยุติการก่อสร้าง มีการเขียนจดหมายประท้วง ยื่นข้อร้องเรียนและประท้วงอย่างสงบ ประชาชนกว่า 50,000 คนลงนามในข้อร้องเรียนของกองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund) เพื่อส่งให้กับประธานบริหารของบริษัท Mega-First กระตุ้นให้เขายุติโครงการ อย่างไรก็ดี ดูเหมือนทางบริษัทจะไม่รับฟังข้อกังวลเหล่านี้

ในเดือนตุลาคม 2557 เอ็นจีโอหกแห่งยื่นข้อร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งมาเลเซีย คัดค้านบทบาทของบริษัท Mega-First ในโครงการเขื่อนดอนสะโฮง ในนามของชุมชนในกัมพูชาและไทย ผู้ร้องเน้นให้เห็นความบกพร่องของบริษัท Mega-First ซึ่งดูเหมือนจะไม่เข้าใจผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการ และไม่ดำเนินการเพื่อลดอันตรายที่มีต่อชุมชนในพื้นที่ ทางบริษัทไม่ได้ใส่ใจแจ้งข้อมูลหรือปรึกษาหารือกับชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ ย่อมถือว่าบริษัทดำเนินการขัดกับหลักกฎหมายสากล

การเดินหน้าสร้างเขื่อนดอนสะโฮงต่อไป แสดงให้เห็นว่าบริษัท Mega-First ไม่ใส่ใจต่อขั้นตอนปฏิบัติว่าด้วยความร่วมมือภูมิภาคระหว่างรัฐบาลในแม่น้ำโขงตอนล่าง รัฐบาลทั้งสี่ประเทศยังคงไม่สามารถบรรลุความตกลงเกี่ยวกับอนาคตของโครงการนี้ ในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Joint Committee of the Mekong River Commission) เมื่อเดือนมกราคม 2558 มีมติให้แสวงหามติร่วมระหว่างรัฐบาลในที่ประชุมระดับรัฐมนตรี อย่างไรก็ดี การประชุมดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น ในขณะที่การสร้างเขื่อนเดินหน้าต่อไป

ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ ในแม่น้ำโขงเฝ้ารอการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อประเมินผลกระทบของโครงการนอกพรมแดนลาว ยังมีการตั้งคำถามต่อมาตรการที่เสนอเพื่อบรรเทาผลกระทบ ซึ่งเป็นมาตรการที่ไม่เคยมีการพิสูจน์ว่าใช้ได้ผลในแม่น้ำโขง ในฐานะผู้พัฒนาโครงการเพียงรายเดียว บริษัท Mega-First ต้องรับผิดชอบในการพิสูจน์ ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลเวียดนามเน้นย้ำเมื่อเดือนมกราคม การศึกษาเท่าที่มีอยู่ยังไม่สามารถพิสูจน์ความสำเร็จของโครงการได้อย่างดีพอ ทั้งยังไม่สามารถจำแนกว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบและรับภาระค่าใช้จ่าย กรณีที่มาตรการบรรเทาผลกระทบล้มเหลว

เป็นที่ชัดเจนว่ายังมีความคลุมเครือเกี่ยวกับผลกระทบที่กว้างขวางของเขื่อนดอนสะโฮง รวมทั้งแผนการบรรเทาผลกระทบเหล่านี้ การเดินหน้าสร้างเขื่อนดอนสะโฮงต่อไปในลักษณะนี้ แสดงถึงการไม่รับผิดชอบอย่างมาก และเสี่ยงจะทำให้เกิดผลกระทบไม่เพียงต่อความมั่นคงด้านอาหารและความเป็นอยู่ของประชาชนหลายล้านคนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง แต่รวมถึงอนาคตความร่วมมือภูมิภาคด้วย

บริษัท Mega-First ยังคงมีโอกาสเลือกอีกเส้นทางหนึ่งเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นบริษัทซึ่งรับผิดชอบและมีจริยธรรม ซึ่งย่อมจะประกันชื่อเสียงของตนรวมทั้งอนาคตที่ยั่งยืนของแม่น้ำโขง

ขั้นตอนแรกในการแสดงความรับผิดชอบคือการยุติการก่อสร้างใด ๆ เกี่ยวกับเขื่อนดอนสะโฮงทั้งหมด และให้ทำการศึกษาข้อมูลขั้นพื้นฐานอย่างรอบด้าน ให้ประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน และให้มีการปรึกษาหารืออย่างจริงจังกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบในประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง 

*Kate Ross เป็นผู้ช่วยโครงการแม่น้ำโขง (Mekong Program Associate) ของ International Rivers ซึ่งเป็นหน่วยงานระหว่างประเทศ มีสำนักงานใหญ่ที่สหรัฐฯ และทำงานเพื่อคุ้มครองแม่น้ำและสิทธิของประชาชนที่ต้องพึ่งพาอาศัยแม่น้ำ